สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน
1. ด้านกายภาพ
1.1 ที่ตั้งของหมู่บ้าน
ที่ตั้งของหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลดาโต๊ะ ประกอบด้วย
หมู่ที่ 1 บ้านเปียะ
หมู่ที่ 2 บ้านโคกหมัก
หมู่ที่ 3 บ้านออเลาะปีแน
หมู่ที่ 4 บ้านบาโงกาเสาะ
หมู่ที่ 5 บ้านกูแบกีแย
องค์การบริหารส่วนตำบลดาโต๊ะ ตั้งอยู่เลขที่ 81/2 หมู่ที่ 1 ตำบลดาโต๊ะ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของที่ทำการอำเภอหนองจิก ห่างจากที่ว่าการอำเภอหนองจิก ประมาณ 25 กิโลเมตร อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดปัตตานี ประมาณ 30 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลคอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลคลองใหม่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลคอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
องค์การบริหารส่วนตำบลดาโต๊ะ มีเนื้อที่รวมทั้งหมดประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ
7,722 ไร่
1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศพื้นที่ทั้งหมดเป็นที่ราบ และราบลุ่ม มีแม่น้ำไหลผ่าน จึงเหมาะกับการทำการเกษตร จึงมีการใช้พื้นที่ราบเป็นที่อยู่อาศัย ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ยางพารา คิดเป็นพื้นที่ 44.67% พื้นที่ราบลุ่ม
ใช้ทำนา คิดเป็นพื้นที่ 55.33 %
1.3 ลักษณะภูมิอากาศ
ภูมิอากาศจังหวัดปัตตานี เป็นแบบมรสุมเขตร้อน แบ่งฤดูกาลเป็น 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูฝนและฤดูร้อน
1. ฤดูฝนแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดเอาความชื้นจากทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดียเข้ามา ทำให้มีฝนตกชุกในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม
อีกช่วงหนึ่งก็คือ ช่วงที่ได้รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดเอาความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามา ทำให้มีฝนตกชุกอีกในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
2. ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน เนื่องจากได้รับลมตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นลมร้อนที่พัดมาจากทะเลจีนใต้ ทำให้อากาศโดยทั่วไปร้อนและชื้น
ปริมาณน้ำฝนรวมตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคมเฉลี่ย 1,843.4 มิลลิเมตร โดยปริมาณน้ำฝนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนเฉลี่ย 437.8 มิลลิเมตร และต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์เฉลี่ย 31.2 มิลลิเมตร และมีจำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ยในรอบปี 144 วัน
อุณหภูมิ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม เฉลี่ย 81% โดยความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดในเดือนพฤศจิกายนเฉลี่ย 86% ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดในเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน เฉลี่ย 78% เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดเข้าสู่ภาคใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม จะส่งผลให้ภาคใต้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย ในส่วนของจังหวัดปัตตานีมีความเสี่ยงที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมดังกล่าวในช่วงเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ในช่วงฤดูร้อน (เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน) โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมอาจเกิดภาวะฝนแล้งในบางพื้นที่ของภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส)
1.4 ลักษณะของดิน
ลักษณะและสมบัติของดินที่พบในตำบลดาโต๊ะ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี แบ่งตามสภาพพื้นที่ได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มดินในพื้นที่ราบลุ่มที่มีการระบายน้ำเลวหรือค่อนข้างเลว และกลุ่มดินในพื้นที่ดอนในเขตชื้นที่มีการระบายน้ำดีหรือดีปานกลาง พร้อมจัดกลุ่มของกลุ่มชุดดินตามสภาพปัญหา และศักยภาพของดินในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังนี้
กลุ่มดินในพื้นที่ราบลุ่มที่มีการระบายน้ำเลวหรือค่อนข้างเลว
- กลุ่มดินเหนียวมีปฏิกิริยาดินเป็นกรด
มีเนื้อที่ 6,306 ไร่ ประกอบด้วยดินในกลุ่มชุดดินที่ 6 และ 6 sp ลักษณะเป็นดินเหนียวละเอียดสีเทาลึกมากที่เกิดจากตะกอนลำน้ำ เนื้อดินบนเป็นดินร่วนเหนียวปนทรายแป้งหรือดินร่วนปนดินเหนียว สีเทา มีจุดประสีเหลืองหรือสีน้ำตาล ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดปานกลาง มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ
5.0 – 6.0 เนื้อดินล่างเป็นดินเหนียวปนทรายหรือดินเหนียว สีเทา มีจุดประสีน้ำตาล สีเหลืองหรือสีแดงของศิลาแลงอ่อนปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดปานกลาง มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 4.5 – 6.0 บางพื้นที่อาจพบชั้นดินร่วนปนทรายภายในความลึก 150 ซ.ม.จากผิวดิน
ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ดินมีโครงสร้างแน่นทึบ
เมื่อหน้าดินแห้งจะแข็งแรงและไถพรวนยาก และขาดแคลนน้ำและมีน้ำท่วมขังในฤดูฝนนานทำความเสียหายกับพืชที่ไม่ชอบน้ำ
ดินมีศักยภาพเหมาะสมในการทำนาในฤดูฝน และฤดูแล้ง และสามารถปลูกพืชไร่ และพืชผักหรือพืชอื่น ๆ ที่มีอายุสั้นได้ สำหรับในบริเวณพื้นที่ที่มีชลประทานเข้าถึงหรือมีแหล่งน้ำธรรมชาติจะสามารถใช้ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล หรือปลูกพืชไร่ และพืชผักได้ตลอดทั้งปี โดยต้องทำคันดินล้อมรอบพื้นที่เพาะปลูกและยกร่องปลูกเพื่อช่วยการระบายน้ำของดิน
- กลุ่มดินร่วน
มีเนื้อที่ 339 ไร่ ประกอบด้วยดินในกลุ่มชุดดินที่ 17 ลักษณะเป็นดินร่วนหยาบหรือดินร่วนละเอียดสีเทาลึกมากที่เกิดจากตะกอนลำน้ำ เนื้อดินบนเป็นดินร่วนปนทราย สีเทาหรือสีน้ำตาลปนเทา มีจุดประสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลปนแดง ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดเล็กน้อย มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 5.0-6.5 เนื้อดินล่างเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินร่วนปนดินเหนียว ชั้นดินล่างถัดไปอาจพบ
ชั้นดินเหนียวสีดินเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลปนเทาทับอยู่บนดินที่มีสีเทา มีจุดประสีน้ำตาล สีเหลืองหรือสีแดงของศิลาแลงอ่อน ปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงเป็นกรดเล็กน้อย มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 4.5 – 6.5
-
ลักษณะของแหล่งน้ำ
1. คลองใหม่ เป็นคลองธรรมชาติ รับน้ำจากท้ายเขื่อนปัตตานี ผ่านพื้นที่รอยต่อกับตำบลคลองใหม่ อำเภอยะรัง ที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 3
2. ลำธารกูแบกีแย ไหลผ่านหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 2
3. มีคลองส่งน้ำชลประทานผ่านและสามารถรับน้ำได้ทุกหมู่บ้าน จำนวน 2 สาย
1.6 ลักษณะของไม้และป่าไม้
โดยภาพรวม พื้นที่ในตำบลมีการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรและอยู่อาศัยเกือบทั้งหมดของพื้นที่ คงมีที่ป่าละเมาะ ในที่สาธารณะของแต่ละหมู่บ้านเพียงเล็กน้อยเกือบทุกหมู่บ้าน และมีที่ป่าสาธารณะเป็นผืนใหญ่อยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลดาโต๊ะ 91 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนถูกนำมาใช้เป็นสถานที่ดำเนินงานโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ (ฟาร์มบ้านโคกหมัก)
|